วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีตานก๋วยสลาก

                ประเพณีตานก๋วยสลากเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงรุ่นคุณปู่-ย่า/ตา-ยาย/พ่อ-แม่ และลูกหลานในปัจจุบัน เรื่องมีอยู่ว่ามีนางยักษิณีตนหนึ่งมักจะเบียดเบียน ผู้คนอยู่เสมอครั้นได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว นางก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธานิสัยใจคอที่โหดร้ายก็กลับเป็นผู้เอื้ออารีแก่คนทั่วไปจนผู้คนต่างพากันซาบซึ้งในมิตรไมตรีของนางยักษิณีตนนั้น ถึงกับนำสิ่งของมาแบ่งปันให้ แต่เนื่องจากสิ่งของที่ได้รับมีจำนวนมาก นางยักษิณีจึงนำสิ่งของเหล่านั้นมาทำเป็นสลากภัต แล้วให้พระสงฆ์/สามเณร จับสลากด้วยหลักอุปโลกนกรรม คือสิ่งของที่ถวาย มีทั้งของของมีราคามากและมีราคาน้อยแตกต่างกันไปตามแต่โชคของผู้ได้รับ การถวายแบบจับสลากของนางยักษิณีจึงนับเป็นครั้งแรกของประเพณีทำบุญสลากภัตในพุทธศาสนา


               
                 [ตานก๋วยสลาก/ตานสลาก/ กิ๋นข้าวสลาก/กิ๋นก๋วยสลากหรือกิ๋นสลาก] ล้วนแล้วแต่เป็นภาษาของชาวถิ่นล้านนาที่มักมีการเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่ความหมายนั้นเหมือนกันโดยหลักการอาจจะแตกต่างกันไปบ้างในเรื่องของรายละเอียดถ้าเป็นภาษาไทยกลางเรียกว่า "สลากภัต" ประเพณี "ตานก๋วยสลาก" หรือ "สลากภัต" ของชาวล้านนานิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน ๑๒ เหนือถึงเดือนยี่เหนือหรือตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี สาเหตุที่ถือปฏิบัติกันเช่นนี้ก็เพราะว่า เป็นช่วงที่ชาวบ้านได้ทำนากันเสร็จแล้ว หยุดพักผ่อน พระสงฆ์ก็จำพรรษาอยู่วัดไม่ได้ไปไหนและบวกกับในช่วงเวลานี้ก็มีผลไม้สุก เช่น ลำไย มะไฟ สมโอ เป็นต้นเมื่อต้นข้าวในนาเริ่มเขียวขจีชาวนาที่มีฐานะไม่ค่อยดีการดำรงชีวิตก็เริ่มขัดสนเมื่อข้าวในยุ้งก็หมดก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะมาถึง ดังนั้นการตานก๋วยสลากในช่วงนี้จึงเท่ากับว่าได้สงเคราะห์คนยากคนจนเป็นสังฆทานได้กุศลแรง 

         ก่อนจะถึงวันตานก๋วยสลาก 1 วันเขาเรียก "วันดา" หรือ "วันสุกดิบ"วันนี้จะเป็นวันที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมข้าวของไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของใช้ต่างๆ สำหรับที่จะนำมาจัดดาใส่ก๋วยสลากและวันนี้มักจะมีญาติสนิทมิตรสหายที่อยู่ต่างบ้านมาร่วมจัดดาสลากด้วย ซึ่งถือเป็นประเพณีที่จะได้ทำบุญร่วมกันผู้ชายจะเป็นคนสานก๋วยสลาก (ตะกร้า) สำหรับที่จะบรรจุใส่ของกินของใช้ต่างๆก๋วยจะกรุด้วยใบตอง/หรือตองจี๋กุ๊กเมื่อรวบปากก๋วยมัดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีไม้ไผ่เหลาเป็นก้านเล็กๆ สำหรับเสียบสตางค์/กล่องไม้ขีดไฟ/บุหรี่ เพื่อทำเป็นยอดก๋วยสลากจะมากน้อยบ้างตามแก่กำลังศรัทธาและฐานะ


ก๋วยสลากจะมีอยู่ ๒ ลักษณะ
๑. ก๋วยน้อย
         เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ ซึ่งไม่เพียงแต่ญาติน้องเท่านั้นอาจจะเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายก็ได้ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรักและมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิตเช่น ช้าง ม้า วัว ควายและสุนัข เป็นต้นหรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ภายหน้า 


๒. ก๋วยใหญ่
         เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธาและฐานะดี เป็นปัจจัยนับว่าได้กุศลแรง   สลากที่มักจัดทำขึ้นเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ " สลากโชค" มักจะเป็นสลากของผู้ที่มีฐานะดีระดับเศรษฐี (บางคน)  ที่ต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้กับบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ที่ได้ล่วงลับอันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณคน



" สลากโชค"
         มักทำเป็นต้นสลากที่สูงใหญ่สำหรับที่จะนำเอาวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆผูกมัดติดกับต้นสลากเช่น ผ้าห่ม
ที่นอน หมอน หม้อนึ่ง ไหข้าว หม้อแกง ถ้วย ชาม ช้อน ร่ม เครื่องนุ่งห่ม อาหาร แห้งต่างๆ และเงินที่เป็นธนบัตรชนิดต่างๆ  ต้นสลากจะมีการประดับตกแต่งให้สวยงามกว่าสลากธรรมดา  ก่อนที่จะนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันที่วัด ต้องเขียนเส้นสลากเสียก่อน ตัวอย่างเช่น "ศรัทธาหมายมีนายอดุมทรัพย์  นางสำรวย ถวายตานไปหาพ่ออุ้ยทองแม่อุ้ยคำ ผู้ล่วงลับ ขอหื้อไปรอด ไปเถิงจิ่มเต่อ" เป็นต้น  ในสมัยก่อนนั้นจะนำเอาใบลานมาทำเป็นเส้นสลาก แต่ปัจจุบันจะเขียนลงบนแผ่นกระดาษ เมื่อนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันไว้ที่วัดแล้วเส้นสลากก็จะถูกนำไปกองรวมกัน ไว้ในวิหารหน้าพระประธานเมื่อเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้วเส้นสลากจะถูกนำมาแบ่งสันปันส่วนกันไปในหมู่ของพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์มาจากวัดต่างๆ รูปละ ๕ เส้น ๑๐ เส้นบ้างแล้วแต่กรณีส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งให้วัดที่เป็นเจ้าภาพก่อนจะถึงเวลาเพล พระสงฆ์ก็จะนำเอาเส้นสลากไปอ่าน โดยเริ่มจากเจ้าอาวาสก่อนจะมีการเรียกชื่อหาเจ้าของสลากนั้นๆ ว่านั่งอยู่ที่ใด เมื่อพบแล้วจะมีการให้ศีล  ให้พรมีการหยาดน้ำอุทิศ ส่วนบุญกุศลไปให้กับผู้ที่ล่วงลับเป็นเสร็จพิธี




เอกสารอ้างอิง

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ไม้เสียบธนบัตรงานบุญ(รูปแบบรายงาน)

โครงงานคอมพิวเตอร์
เรื่อง  ไม้เสียบธนบัตรงานบุญ




ประเภทโครงงาน
โครงงานเพื่อพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษา


ผู้จัดทำ                                   
ด.ญ.ณัฐริณีย์      ปัญโญ   เลขที่ 13   ม.3/3


ครูที่ปรึกษา                
คุณครูพร้อมพงษ์       แปงเครือ


ระยะเวลาการดำเนินงาน
30 พฤษภาคม – 27 มิถุนายน 2556


แนวคิด ที่มา
            ปัจจุบันนี้มีขยะเยอะมาก  ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก  กล่อง  กระป๋อง  คนส่วนมากนิยมกำจัดด้วยวิธีการเผา  แต่นั้นก็เป็นการทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน  ผู้จัดทำเห็นถึงปัญหานี้     จึงคิดนำถุงพลาสติกที่ใช้แล้วแต่ยังมีสีสันสวยงามอยู่เช่น  ถุงผงซักฟอก  ถุงขนมกรุบกรอบ      ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม  เป็นต้น  มารีไซเคิล(Recycling) ทำเป็นไม้เสียบธนบัตรใช้ในงานบุญต่างๆ เช่น งานบวช   ประเพณีทอดกฐิน   ประเพณีทอดผ้าป่า เป็นต้น   เพื่อเผยแพร่สูสังคม ผู้จัดทำจึงใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นตัวช่วยในกานนำเสนอและขยายความรู้   ให้ผู้สนใจได้หัดลองทำ     ซึ่งไม้เสียบธนบัตรนี้สามารถทำได้ง่ายและทำได้ทุกวัย   แค่ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์   และยังสามารถสร้างรายได้ให้อีกด้วย


วัตถุประสงค์
1.เพื่อเผยแพร่ความรู้ในการทำไม้เสียบธนบัตรแก่สังคม
2.เพื่อนำถุงพลาสติกที่ใช้แล้วมารีไซเคิล(Recycling) ให้เกิดประโยชน์จริง


หลักการทฤษฎี
ผู้จัดได้จัดทำโครงงานนี้ขึ้นมา  โดยยึดแนวการแก้ไขปัญหาขยะ  เนื่องจากมีเยอะมากในปัจจุบัน  จึงเล็งเห็นความสำคัญของขยะเหล่านี้   ได้นำมารีไซเคิลใหม่ทำเป็นไม้เสียบธนบัตร  และสามารถสร้างรายได้ให้ได้อีกด้วย


วิธีการดำเนินงาน
วัสดุ-อุปกรณ์
1.ถุงพลาสติกที่ใช้แล้วที่มีมีสีสันสวยงามอยู่เช่น ถุงผงซักฟอก  ถุงขนมกรุบกรอบ  ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม  ฯลฯ
2.เทปกาวใส
3.ก้านไม้ที่เหลาเรียบร้อยแล้ว
4.หลอดพลาสติก
5.กรรไกร




วิธีทำ
การทำก้านไม้ไผ่
1.นำไม้ไผ่มาตัดเป็นท่อน ยาวท่อนละประมาณ 15 นิ้ว
2.นำมาผ่าแล้วเหลาให้เกลี้ยง
3.นำไม้ไผ่ที่เหลาแล้วมาผ่าครึ่งอีกที   ไว้สำหรับเป็นช่องสอดธนบัตร
4.นำไปตากให้แห้ง




การทำดอกพลาสติก
1.นำถุงพลาสติกที่ใช้แล้วมาตัดคลี่เป็นแผ่น   นำไปล้างให้สะอาด   แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง




2.นำมาตัดให้ได้ขนาดพอดี ส่วนใหญ่จะตัดประมาณกว้าง 5 ซม.  ยาว  12  ซม.   ทั้งนี้แล้วแต่ขนาดของถุงพลาสติกจะไม่เท่ากัน




3.นำถุงพลาสติกที่ตัดแล้ว  มาพับครึ่งตามแนวยาวแล้วใช้กรรไกรตัดซอยให้ถี่ๆ  (เพื่อประกอบเป็นดอกแล้วจะได้ดอกที่สวย)



4.นำไม้ไผ่มาแล้วเอาหลอดพลาสติกมาใส่ทั้ง 2 ข้าง ดังภาพ




5.นำถุงพลาสติกที่ตัดซอยแล้วมาประกอบเป็นดอก  โดยใช้ไม้ไผ่ที่เตรียมไว้แล้ว(โดยหมุนถุงพลาสติกรอบๆไม้ไผ่) แล้วติดเทปใส ดังภาพ



6.พันก้านไม้ ดังภาพ




7.และได้ก้านไม้เสียบธนบัตร ดังภาพ




ขั้นตอนการปฏิบัติงาน
วัน/เดือน/ปี
รายละเอียดการดำเนินงาน
30/05/2556
หาหัวข้อโครงงาน   นำเสนอครูที่ปรึกษา
31/05/2556 – 06/06/2556
ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่สนใจ
07/06/2556 – 13/06/2556
เขียนโครงร่างโครงงาน
14/06/2556 – 26/06/2556
สำรวจความเรียบร้อยโครงงาน   ปรึกษาครูผู้สอน
27/06/2556
นำเสนอโครงงานที่สนใจ



ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1.สามารถเผยแพร่ความรู้ในการทำไม้เสียบธนบัตรสู่สังคมได้
2.สามารถนำถุงพลาสติกที่ใช้แล้ว   มารีไซเคิล(Recycling) เกิดประโยชน์ได้จริง


เอกสารอ้างอิง